เกษตรกรมือใหม่ควรศึกษาความสำคัญของโคกหนองนาโมเดล ให้เข้าใจก่อนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและนอกจากนั้นยังสามารถผสมผสานภูมิปัญหาชาวบ้านกับเกษตรทฤษฎีใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างลงตัว
โคกหนองนาโมเดล คือ
โคกหนองนาโมเดล คือ การจัดการพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่แล้วในสภาพแวดล้อมนั้นๆให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาของชาวบ้านได้อย่างลงตัวและส่งเสริมให้การทำเกษตรประสบความสำเร็จรวดเร็วขึ้นโดยที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมเดิม ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้
โคก
- ดินที่ได้จากการขุดหนองน้ำให้นำมาทำโคกและ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโชน์ 4 อย่าง” ตามแนวพระราชดำริ
- ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขายและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
- ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
หนอง
- ขุดหนองเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก)
- ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบๆพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้
- ทำฝายทดน้ำเพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
- พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก
นา
- พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน
- ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ตามแนวทาง “โคก หนอง นำ โมเดล” ทุกหมู่บ้าน
รูปแบบโคกหนองนาโมเดล
“โคกหนองนาโมเดล” เป็นรูปแบบที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องของการจัดการน้ำ โดยนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร โดยมีการผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โดยสามารถแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนดังนี้ 30 : 30 : 30 : 10 โดย 30% แรกสำหรับขุดดบ่อทำหนองน้ำและคลองไส้ไก่ 30% สำหรับปลูกข้าว 30% สำหรับปลูกไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ และอีก 10% สำหรับที่อยู่อาศัยและไว้เลี้ยงสัตว์
การออกแบบโคก หนอง นา โมเดล
การออกแบบโคก หนอง นา โมเดล จะคำนึงถึงภูมิสังคมเป็นหลัก คือจะต้องออกแบบตามสังคมและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ และถ้าสภาพแวดล้อมต่างกันก็จะออกแบบต่างกัน
การกักเก็บน้ำ
หลักการที่สำคัญสำหรับการทำ โคก หนอง นา โมเดล คือจะต้องมีปริมาณน้ำให้เพียงพอ และการกักเก็บน้ำนั้นสามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
1. เก็บน้ำไว้ในโคก
สามารถทำได้โดยวิธีปลูกต้นไม้นานาพันธุ์และเก็บน้ำไว้ในระบบรากต้นไม้ที่ปลูก โดยต้นไม้ควรปลูกไว้ 5 ระดับ คือ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตีย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายของระบบรากหากมีฝนตกลงมารากไม้ก็จะทำการอุ้มน้ำไว้ แต่ควรปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดปะปนกันไป
2. เก็บน้ำไว้ในหนอง
สามารถทำได้โดยการขุดให้เป็นคดโค้งแต่มีระดับตื้นลึกที่แตกต่างกันไป และก่อนจะทำการขุดหนองควรคำนวณปริมาตรน้ำก่อน เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้งาน
3. เก็บน้ำไว้ในนา
สามารถทำได้โดยการยกคันนาให้กว้างและสูงขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บปริมาณน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง และนอกจากนั้นอาจจะนำผักผลไม้มาปลูกไว้กินได้ด้วย
ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
การปลูกป่าที่มีประโยชน์ ต้องปลูกป่าไม้แบบไหนบ้าง และควรมีประโยชน์ใช้สอยอย่างไรบ้าง ให้ยึดตามหลักแนวคิด ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้
ป่า 3 อย่าง ได้แก่
- ไม้ใช้สอย เช่น สะเดา ไผ่ เป็นต้น
- ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ
- ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก พะยูง ปะดู่ เป็นต้น
ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่
- พอกิน คือ การปลูกต้นไม้ที่สามารถกินได้และยังสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรได้ด้วย
- พอใช้ คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้เพื่อนำมา ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน
- พออยู่ คือ การปลูกต้นไม้ที่นำเนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่าไม้เพื่อนำมาสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ภายในบ้านอื่นๆ
- พอร่มเย็น คือ การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
สรุป - โคกหนองนาโมเดล
โคกหนองนาโมเดลเป็นวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น การทำให้มีอาหารกินตลอดทุกฤดู หรือการที่มีทรัพยากรสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หากใครสามารถนำหลักการนี้ไปใช้ อาจจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและลดต้นทุนต่างๆในชีวิตลงได้