รถที่คุณใช้อยู่ทุกวันนี้ใกล้ถึงเวลาต้องต่อภาษีรถยนต์แล้วหรือยัง ครบมาอีกปีหนึ่งแล้วที่เจ้าของรถต้องเตรียมเอกสารและหาเงินมาจ่ายค่าภาษีเพื่อไปต่อภาษีที่สำนักงานขนส่ง แต่ถ้าคุณไม่มีเวลาไปทำเรื่องเองถึงที่ขนส่ง คุณจะสามารถไปดำเนินการได้ที่ไหนได้บ้าง
แต่การต่อภาษีรถยนต์ตอนนี้ สำหรับเจ้าของรถหรือผู้ที่กระทำการแทนถือว่าสะดวกสบายมากๆ เพราะสามารถทำได้ผ่านทางช่องทางหลากหลายเลยทีเดียว ในบทความนี้เพื่อนแท้เงินด่วนจะแนะนำการต่อภาษีรถออนไลน์แบบละเอียดผ่านบริการระบบ e-Service และแอป DLT Vehicle Tax
ภาษีรถยนต์คืออะไร
ภาษีรถยนต์ คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บโดยกรมสรรพสามิต เนื่องจากรถยนต์เป็นสินค้าและบริการที่เกินความจำเป็น หรือเป็นที่รู้จักว่า สินค้าฟุ่มเฟือย เงินต่อภาษีรถยนต์ที่เก็บไปนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพ สร้างใหม่ หรือบำรุงพื้นผิวถนนที่เสื่อมสภาพจากการวิ่งของรถยนต์
ต้องต่อภาษีรถยนต์ตอนไหน
ส่วนในกรณีเจ้าของไม่ได้เสียภาษีรถยนต์เกินกว่า 3 ปีขึ้นไป ป้ายทะเบียนของรถจะถูกยกเลิกทันที แต่เจ้าของรถสามารถขอจดทะเบียนรถใหม่ได้โดยต้องนำเอาป้ายทะเบียนเดิมไปทำเรื่องที่กรมการขนส่งทางบก ชำระค่าปรับต่อภาษีรถย้อนหลัง แล้วจึงรับป้ายทะเบียนรถใหม่
ประเภทรถที่ยื่นภาษีออนไลน์ได้
ไม่ใช่ว่ารถยนต์ทุกประเภทสามารถยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ชวนศึกษาประเภทรถที่สามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีออนไลน์ได้ รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่ควรต้องรู้ ดังนี้
ประเภทรถจดทะเบียนทุกจังหวัดที่ต่อภาษีรถออนไลน์ได้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1)
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2)
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3)
- รถจักรยานยนต์ (รย.12)
เงื่อนไขอื่นๆ ของรถที่ต่อภาษีออนไลน์ได้
- รถประเภทที่ต้องผ่านการตรวจสภาพจากตรอ. (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) ก่อนต่อภาษีประกอบไปด้วย
- รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปีนับจากวันจดทะเบียน
- รถประเภท รย.12 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีนับจากวันจดทะเบียน รวมถึงรถที่ค้างชำระภาษีเกิน 1 ปีด้วย
- รถประเภท รย.1, รย.2 และ รย.3 ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม
- รถที่ไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกชนิดเป็นเชื้อเพลิง
- ต้องไม่เป็นรถที่ถูกระงับทะเบียนติดต่อกัน 3 ปี รถถูกอายัดทะเบียน และรถยกเว้นค่าภาษีประจำปี
สอบถามภาษีค้างชำระ / ข้อมูลภาษี
หากมีข้อสงสัย ข้องใจ หรือต้องการสอบถามเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลภาษีรถ ภาษีค้างชำระ หรือ สถานะรถ เจ้าของรถก็สามารถจัดการเองได้บนเว็บไซต์ eservice.dlt.go.th โดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก เพียงไปที่หมวดบริการแล้วเลือก “สอบถามข้อมูลค่าภาษีรถประจำปี”
- สอบถามข้อมูลโดยการกรอก ประเภทรถ ซึ่งมี รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และ รถจักรยานยนต์
- เลือกจังหวัด หรือสาขา
- ใส่เลขทะเบียนรถ
- ระบุเลขบัตรประชาชนของเจ้าของรถ
- ใส่รหัสตามที่ปรากฏบนภาพ แล้วกดค้นหา
- ระบบจะแสดงข้อมูลซึ่งประกอบไปด้วย วันหมดอายุภาษีปัจจุบัน วันที่สิ้นอายุภาษีถัดไป ค่าภาษี และสถานะ
ต่อภาษีรถยนต์ได้ที่ไหน
ต่อภาษีรถยนต์เดี๋ยวนี้สะดวกสบายเพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเองผ่านหลายช่องทาง หรือใช้บริการตัวแทนรับต่อภาษีรถยนต์จากหลากหลายผู้ให้บริการ ซึ่งมีดังนี้
- กรมการขนส่งทางบก
- สำนักงานขนส่ง ซึ่งสามารถต่อได้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะจดทะเบียนที่จังหวัดไหนก็ตาม
- จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
- ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk)
- เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียม 20 บาท และจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์อีก 40 บาท
- ที่ทำการไปรษณีย์ โดยมีค่าธรรมเนียม 40 บาท
- ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- สถานที่รับตรวจสภาพรถและต่อภาษี โดยมีค่าบริการแต่ละที่แตกต่างกันออกไป
- ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
เอกสารที่ใช้ต่อภาษี
หลีกเลี่ยงการเสียเวลาเพราะต้องย้อนกลับไปมาเนื่องจากเตรียมเอกสารไม่ครบ เจ้าของรถควรมีเอกสารดังต่อไปนี้เพื่อใช้ในการต่อภาษีรถยนต์
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ตัวจริงหรือสำเนา
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.)
- หาง พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
อัตราค่าบริการ
กรมการขนส่งกำหนดกำหนดอัตราค่าบริการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ไว้ดังนี้
- ค่าจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 32 บาท
- กรณีใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือหักบัญชีเงินฝาก มีค่าธรรมเนียมธนาคาร 20 บาท
- กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต คิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตร 2% และ VAT อีก 7% ของยอดทั้งหมดที่ต้องชำระ
ช่องทางชำระภาษี
ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์มีช่องทางชำระเงินอยู่ 4 ช่องทางด้วยกัน ดังนี้
- หักบัญชีเงินฝาก
- บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA และ Master Card
- จุดบริการรับชำระ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยในใบแจ้งชำระหนี้จะมีรายชื่อจุดรับชำระเงินทั้งหมดและจำนวนเงินที่เจ้าของรถต้องชำระ
- แอปพลิเคชันที่รับชำระ ซึ่งมี mPAY โดย AIS และ True Money Wallet โดย TrueMove
ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ผ่านเว็บ e-Service
กรมการขนส่งทางบกมีบริการ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ โดยสามารถเข้าถึงได้จาก eservice.dlt.go.th โดยผู้ใช้งานต้องสมัครสมาชิกก่อนเพื่อเข้าใช้งานได้เต็มรูปแบบ
- เลือก “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี” ที่เมนูบริการของ e-Service หากไม่เคยต่อภาษีออนไลน์มาก่อนต้องดำเนินการลงทะเบียนสมาชิกใหม่
- ระบบจะแสดงหน้าจอที่มีข้อมูลรายการรถที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ให้เลือกรถที่ต้องการแล้วกดยื่นชำระภาษี
- ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับรถและยื่นชำระภาษี พร้อมทั้งกรอกรายละเอียดของ พ.ร.บ. หรือ ซื้อเพิ่ม จากระบบ
- เลือก “กรอกสถานที่จัดส่งเอกสาร” แล้วระบุข้อมูลของสถานที่ที่ต้องการให้จัดส่งเอกสาร
- จากนั้นกด “เลือกวิธีชำระเงิน” ซึ่งสามารถเลือกได้ 3 ช่องทาง ประกอบไปด้วย หักบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต และเคานน์เตอร์เซอร์วิส
- กดตกลง
- คุณสามารถตรวจสอบผลการชำระภาษี ชำระเงิน หรือพิมพ์ซ้ำ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
ขั้นตอนต่อภาษีรถยนต์ผ่านแอป DLT Vehicle Tax
สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่ถึง 7 ปี สามารถต่อภาษีรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ได้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
- ผู้ใช้งานครั้งแรกดาวน์โหลด DLT Vehicle Tax ได้จาก
- ลงทะเบียนโดยระบุชื่อ-นามสกุล อีเมล เลขประจำตัวประชาชนหรือ ID Passport และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้นกดเพื่อรับรหัส OTP
- ใส่รหัส OTP ที่ได้รับ แล้วกดยืนยัน จากนั้นตั้งรหัส PIN 6 หลัก
- เลือก “ชำระภาษีรถ” เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้ว
- จากนั้นกด “รูปแบบชำระภาษี” แล้วเลือกกรอกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน หรือ เลขทะเบียนนิติบุคคลเจ้าของรถ
- เลือก “ประเภทรถ” แล้วกรอกข้อมูลทะเบียนรถ
- ระบุข้อมูล พ.ร.บ.
- เลือกรับเครื่องหมายของการเสียภาษีรถผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศหรือตู้ kiosk
- ชำระเงินได้ 2 ช่องทาง คือ QR ชำระเงิน และ SCB Easy App
การขอคืนเงินภาษีรถ
ไม่แน่ใจว่าเสียภาษีไปซ้ำซ้อน หรือชำระเงินค่าภาษีซ้ำซ้อนแล้วต้องทำอย่างไร อ่านตรงนี้ เพราะกรมขนส่งได้กำหนดขั้นตอนการขอคืนเงินภาษีรถยนต์ไว้
เงื่อนไขขอคืนภาษี
ผู้ที่สามารถขอคืนเงินชำระภาษีได้ มีเงื่อนไขต่อไปนี้
- ชำระเงินค่าภาษีถูกต้อง ผ่านระบบชำระภาษีออนไลน์
- ชำระภาษีซ้ำซ้อนในปีภาษีเดียวกันทุกช่องทาง
- หรือตรวจสอบการชำระภาษีซ้ำซ้อนได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” สามารถขอคืนเงินชำระภาษีได้เมื่อค้นหาแล้วพบสถานะ “พบความผิดพลาดติดต่อกรม”
เอกสารขอคืนภาษี
- เอกสารการยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ซึ่งพิมพ์จากเมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
- ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีจากกรมขนส่งฉบับจริง
- สำเนาสมุดคู่มือรถ
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากสำหรับโอนภาษีคืน
- กรณีรถติดไฟแนนซ์ ต้องมีเอกสารดังนี้ สำเนาสัญญาเช่าซื้อ, สำเนาบัตรประชาชนผู้เช่าซื้อ, สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการที่มีอำนาจลงนาม, สำเนาใบรับรองและใบมอบอำนาจจากบริษัทไฟแนนซ์
ขอคืนภาษีได้ที่ไหน
- ต้องยืนยันการชำระเงินภาษีซ้ำซ้อนที่เบอร์โทรศัพท์ 02-271-8888 ต่อ 9313
- เมื่อยืนยันแล้ว ให้นำเอกสารขอคืนภาษีไปยื่นที่กรมขนส่งทางบกจตุจักร อาคาร 2 ชั้น 2 งานรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน หรืองานรถจักรยานยนต์
- แจ้งเจ้าหน้าที่ แล้วรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแจ้งกำหนดการคืนเงิน
สรุป - ต่อภาษีรถยนต์
ทีนี้เจ้าของรถก็อย่าลืมเช็กว่ารถของคุณถึงเวลาต้องต่อภาษีรถยนต์แล้วหรือยัง โดยคุณสามารถชำระภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือนหรือ 90 วันก่อนจะถึงกำหนด และชำระได้ผ่านหลายช่องทางรวมถึงช่องทางออนไลน์ที่สามารถดำเนินการจากที่ไหนก็ได้ จากนั้นให้รอรับเอกสารการต่อภาษีทางไปรษณีย์ประมาณ 5 วันทำการ หากไม่ได้รับหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม คุณสามารถตรวจสอบหรือสอบถามได้กับกรมขนส่งทางบก