ในบทความนี้จะเทียบความแตกต่างของที่ดิน และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินชนิดต่างๆ พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างโฉนดที่ดิน ซึ่งบอกรายละเอียดส่วนประกอบที่ปรากฏด้านหน้าและด้านหลังของใบโฉนด วิธีตรวจสอบว่าโฉนดที่ดินที่คุณมีอยู่เป็นของแท้หรือไม่ และวิธีการประเมินราคาที่ดินจากใบโฉนด
ตัวอย่างโฉนดที่ดินด้านหน้าของ น.ส.4
ตัวอย่างโฉนดที่ดินด้านหน้าประกอบด้วนข้อมูลต่างๆ ดังนี้
ตำแหน่งที่ดิน
- ระวางระบุถึงแผนที่ใหญ่แผนที่หนึ่งที่ซึ่งที่ดินบนโฉนดนี้ตั้งอยู่
- เลขที่ที่ดินของใบโฉนดในระวางแผนที่ที่ระบุไว้ก่อนหน้า
- หน้าสำรวจแสดงหมายเลขลำดับสำรวจของที่ดิน โดยในแต่ละตำบลจะมีการลำดับเลขใหม่
- ตำบลที่ที่ดินนี้ตั้งอยู่
เจ้าของโฉนดที่ดินคนแรก
ให้แก่… ไม่ว่าโฉนดจะเปลี่ยนเจ้าของมามากเท่าไร ชื่อที่ระบุหน้านี้จะเป็นชื่อเจ้าของโฉนดคนแรก
ขนาดที่ดิน
“ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ… ไร่… งาน…. ตารางวา….” ขนาดของที่ดินในโฉนดมีการวัดค่าด้วยหน่วยการวัดของไทย สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยวัดไทยเป็นระบบเมตริกได้จาก 1 ไร่ = 4 งาน = 400 ตารางวา = 1,600 ตร.ม. หรือใส่ตัวเลขเพื่อคำนวณได้ที่ landprothailand
รูปแผนที่
ซึ่งมีการระบุทิศของแผนที่และมาตราส่วนไว้ ในตัวอย่างโฉนดที่ดิน
วันออกโฉนด
เป็นวันออกโฉนด สังเกตจาก ออก ณ วันที่… เดือน… พุทธศักราช…
เจ้าพนักงานที่ดิน
มีการลงลายมือชื่อและตราประทับ
ตัวอย่างโฉนดที่ดินด้านหลังของ น.ส.4
เป็น “สารบัญจดทะเบียน” บอกประวัติของโฉนดที่ดิน ซึ่งประกอบไปด้วย
- วันจดทะเบียน
- ประเภทการจดทะเบียน
- ผู้ให้สัญญา (เจ้าของคนเดิม)
- ผู้รับสัญญา(เจ้าของคนใหม่)
- เนื้อที่ดินตามสัญญา (ขนาดที่ดินก่อนการทำนิติกรรม)
- เนื้อที่ดินคงเหลือ (ขนาดที่ดินหลังทำนิติกรรม ซึ่งการดูขนาดที่ดินแปลงนี้ ควรดูบันทึกล่าสุดในหน้าสารบัญจดทะเบียน)
- ระวางเลขที่ดินโฉนดที่ดินใหม่ และลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดิน
วิธีตรวจสอบโฉนดที่ดินของแท้
หากสงสัยว่าตัวอย่างโฉนดที่ดินที่มีอยู่เป็นของแท้หรือไม่ ให้ตรวจสอบตามนี้ในเบื้องต้น
1. ลายน้ำ
ในโฉนดที่ดินมีลายน้ำวงกลมสองวงที่ภายในมีตราครุฑประทับอยู่ใจกลางกระดาษ มีตัวหนังสือ “กรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย” กำกับด้านล่างวงกลมนั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบตัวอย่างโฉนดที่ดินได้โดยการส่องกับไฟ
2. ตราประทับและลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงาน
ด้านหน้าของโฉนดที่ดินมีการลงลายมือชื่อของเจ้าพนักงานด้วยหมึกสีดำ (เป็นส่วนใหญ่) และมีการประทับตราเหนือชื่อนั้นๆ ไว้
3. นำไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน
เพื่อให้แน่ใจว่าตัวอย่างโฉนดที่ดินเป็นของจริง หรือต้องการตรวจสอบเจ้าของปัจจุบันของโฉนด สามารถตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินในจังหวัด สาขา ของโฉนดที่ดินนั้นๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบหาสาขาและข้อมูลติดต่อได้ที่เว็บไซต์กรมที่ดิน หรือตรวจสอบด้วยตนเองผ่านระบบ Landsmaps ของกรมที่ดิน
วิธีตรวจสอบราคาที่ดินจากโฉนด
หากคุณต้องการตรวจสอบราคาที่ดินมีสิ่งที่ต้องรู้ดังนี้
วิธีการตรวจสอบราคาที่ดินจากโฉนด
- กองประเมินราคาทรัพย์สิน สามารถติดต่อสอบถามราคาประเมินที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดิน กรมธนารักษ์ของพื้นที่ที่ดินตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ โดยหาที่ตั้งของสำนักงานที่ดินได้ที่เว็บไซต์กรมธนารักษ์
- โทรศัพท์ สามารถสอบถามการประเมินที่ดินของตัวอย่างโฉนดที่ดินที่เราสนใจ ทางโทรศัพท์ของสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ได้ที่หมายเลข 0 2142 2465 ถึง 67
- ออนไลน์ สามารถตรวจสอบราคาประเมินที่ดินทางออนไลน์ ได้ทั้งจากเลขที่โฉนด เลขที่ดิน น.ส.3 ก. ห้องชุด และสิ่งปลูกสร้าง ได้จากกรมธนารักษ์ : ระบบเผยแพร่ราคาประเมิน
หลักฐานที่ใช้
- โฉนดที่ดิน (หรือหนังสือแสดงสิทธิที่ดินอื่นๆ)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดิน และ/หรือบัตรของผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดิน
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดิน และ/หรือบัตรของผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดิน
- หลักฐานนิติบุคคล หรือผู้รับมอบอำนาจ
ค่าใช้จ่าย
โดยค่าใช้จ่ายอาจแตกต่างไปตามสำนักงานที่ดินแต่ละที่ โดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายเพื่อรับรองการประเมินราคาคิดเป็นคำขอแปลงละ 5 บาท มีค่ารับรองฉบับละ 10 บาท ค่าพยานคำขอเรื่องละ 20 บาท และค่ามอบ (ถ้ามี) เรื่องละ 20 บาท
โฉนดที่ดินมีกี่แบบ
โฉนดที่ดินในประเทศไทยมีหลายชนิด เราสามารถสรุปได้ดังนี้
โฉนดที่ดิน
หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ออกโดยกรมที่ดิน สังเกตได้จากครุฑสีแดงกลางหัวกระดาษข้างบน มีทั้งหมด 6 แบบ แต่ปัจจุบัน น.ส.4 จ. เป็นโฉนดที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน บนใบโฉนดที่ดินมีข้อมูลที่ผู้เป็นเจ้าของควรทำความเข้าใจ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ถัดไปในหัวข้อตัวอย่างโฉนดที่ดิน
หนังสือรับรองการทำประโยชน์
หรือที่เรียกว่า น.ส.3 ก. (ครุฑเขียว) และ น.ส. 3/ข. (ครุฑดำ) เป็นหนังสือแสดงสิทธิที่ดินที่เจ้าของเป็นผู้ครอบครอง ออกให้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยที่มีแต่ น.ส.3 ก. ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ
ส.ค.1
เป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค. 1 แล้ว แต่ผู้มีแบบแจ้งนี้สามารถมาขอออกหนังสือรับรองผลประโยชน์ หรือใบโฉนดได้ตามกรณีที่กรมที่ดินกำหนดไว้
ส.ค.2
เป็นบัญชีรับแจ้งการครอบครอง ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เจ้าของสิทธิยังคงใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นอยู่
ใบจอง
หรือ น.ส.2 เป็นหนังสือที่ราชการออกให้ผู้มีใบจองครอบครองใช้ประโยชน์จากที่ดินชั่วคราว และผู้มีใบจองต้องเริ่มใช้ประโยชน์บนที่ดินภายใน 6 เดือน และทำให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่ได้รับใบจอง โดยให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างน้อย 3 ใน 4 ของที่ดิน สามารถนำใบจองมาออกหนังสือรับรองผลประโยชน์ในภายหลังได้
ใบไต่สวน
หรือ น.ส.5 เป็นเอกสารที่ออกมาเพื่อแสดงว่าที่ดินได้มีการสอบสวนสิทธิแล้ว ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ แต่สามารถใช้เป็นหลักฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้
ส.ป.ก.4-01
หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ มีตราครุฑสีน้ำเงิน เป็นที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปเพื่อการเกษตรยกที่ดินให้ผู้ครอบครองเข้าทำประโยชน์ในแง่เกษตรกรรม ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่โอนเป็นมรดกให้แก่ทายาทได้
ภ.บ.ท.5
เป็นหลักฐานอ้างอิงการใช้ประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้น โดยรับรองว่าผู้ใช้ประโยชน์บนที่ดินมีการเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีดอกหญ้า ไม่ใช่เอกสารสิทธิในตัวอย่างโฉนดที่ดิน และการซื้อขายเป็นเพียงแค่การโอนสิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดินเท่านั้น
โฉนดที่ดินแบบไหนใช้กู้เงินได้บ้าง
ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีค่า นอกจากจะนำไปใช้ทำกิน ที่อยู่อาศัย หรือทางพาณิชย์ ยังนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้สินเชื่อโฉนดที่ดินในยามติดขัดได้อีกด้วย มาตรวจสอบว่าตัวอย่างโฉนดที่ดินแบบไหนใช้กู้ยืมได้
ประเภทที่ดิน/นิติกรรม | สิทธิในที่ดิน | จำนอง/ ซื้อขาย | หลักทรัพย์ค้ำประกันกู้ยืม | การแย่งการครอบครอง |
โฉนดที่ดิน น.ส.4 | มีกรรมสิทธิ์ | ได้ | ได้ | ครอบครองปรปักษ์10 ปี |
น.ส.3 ก. | มีสิทธิทำประโยชน์ | ได้ | ได้ | ครอบครองปรปักษ์ 1 ปี |
ส.ป.ก.4-01 | มีสิทธิทำประโยชน์ในด้านการเกษตร | ไม่ได้ | ไม่ได้ | รัฐเป็นเจ้าของ |
ภ.บ.ท.5 | มีสิทธิทำประโยชน์ | ไม่ได้ | ไม่ได้ | รัฐเป็นเจ้าของ |
สรุป - ตัวอย่างโฉนดที่ดิน
โฉนดที่ดินเป็นเอกสารหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ที่ตัดสินใจซื้อขาย หรือเป็นเจ้าของที่ดินสามารถดูรายละเอียดที่ดินที่หนึ่งๆ ได้ตามรายละเอียดต่างๆ ตามตัวอย่างโฉนดที่ดิน บนหน้าโฉนดที่ดินของคุณ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของที่ดิน, แผนที่ของที่ดิน, หรือวันออกโฉนด และสามารถตรวจสอบประวัติของโฉนดได้ที่ “สารบัญจดทะเบียน” ในหน้าหลังของใบโฉนดที่ดิน
หากต้องการตรวจสอบว่าโฉนดที่ดินที่มีอยู่เป็นของจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากลายน้ำ ลายลงมือชื่อของเจ้าพนักงานในเบื้องต้น และนำไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินในเขตที่โฉนดตั้งอยู่ หรือทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ของกรมที่ดิน